12 สมุนไพรจีน ช่วยบำรุงสุขภาพ

12 สมุนไพรจีน ช่วยบำรุงสุขภาพ

ตามไปซื้ออาหาร – สมุนไพรจีน มาทำเมนูอร่อยกัน


เม็ดเก๋ากี้
รสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุเป็นกลาง บำรุงเลือด ไต และสายตา ช่วยให้ผมดำและบำรุงผิวพรรณ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ใช้บำบัดผู้ที่ตับไตอ่อนแอ หญิงที่มีประจำเดือนผิดปกติ โลหิตจาง ตามัว และแก่ก่อนวัย
วิธีปรุง ชงน้ำดื่มแทนน้ำชา หรือ ใส่ลงในน้ำซุป ตุ๋น ใช้ครั้งละ 5-30 กรัม
ผู้ไม่ควรบริโภค เป็นหวัด ตัวร้อน อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ม้ามอ่อนแอ อุจจาระเหลว

ห่วยซัว
รสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุเป็นกลาง ช่วยถอนพิษและบรรเทาอาการบวม มักใช้บำบัดอาการม้ามพร่อง ถ่ายอุจจาระเหลว ไอและมีเสมหะเนื่องจากโรคปอด บำรุงไต และใช้ได้ผลมากกับอาการอันเกิดจากโรคเบาหวาน เช่น กระหายน้ำ ซูบผอม หากเด็กมีอาการนอนไม่หลับเบื่ออาหารก็ให้รับประทานได้
วิธีปรุง
1. ห่วยซัวรสอร่อยไม่เลี่ยน ใส่ในซุปกินเป็นประจำจะช่วยบำรุงอวัยวะทั้งห้า
2.ห่วยซัว 100 กรัม บดเป็นผง ใส่เหล้าจีน 1 ช้อนโต๊ะ นำไปต้มในหม้อจนมีกลิ่นหอม ใส่เหล้าอีก 1 ถ้วย คนให้เข้ากัน ดื่มตอนท้องว่าง
ผู้ไม่ควรบริโภค ผู้ที่เป็นวัณโรคเกิดจากปัจจัยภายในพร่อง

อึ่งคี้หรือปั๊กคี้
รสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุอุ่นเล็กน้อย ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงเลือดลม ขับปัสสาวะและเสริมภูมิต้านทานโรค จึงใช้บำบัดอาการอ่อนล้า เหมาะสำหรับใช้เป็นยาบำรุงสำหรับคนชราและผู้มีร่างกายอ่อนแอ เพราะจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำในร่างกาย และลดความดันโลหิต
วิธีปรุง
1.ใส่ผสมในน้ำซุปปลาหลีฮื้อน้ำแดงหรือซุปหอยนางรมอึ่งคี้ 2.ใส่ข้าวต้ม 3.ชงน้ำดื่มเป็นน้ำชา
2.อึ่งคี้ 20 กรัม พุทราจีน 10 ลูก ต้มน้ำดื่มวันละ 1 ชุด โดยต้มได้สองครั้ง ช่วยบำบัดอาการอ่อนล้า เป็นหวัดง่าย
ผู้ไม่ควรบริโภค มีอาการไอ เสมหะมาก มีไข้สูง แน่นท้อง ลิ้นมีฝ้าขุ่นหนา

ซัวเซียม
รสชาติและสรรพคุณ ประกอบด้วยแห้ง น้ำมันหอมระเหย อัลคาลอยด์ ช่วยบำรุงปอด แก้ไอขับเสมหะ ใช้บำบัดอาการไอเรื้อรัง เสมหะเป็นฟอง ซูบผอม ซึมเซา เสมหะมีเลือดปน
วิธีปรุง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทตุ๋น และข้าวต้ม

เง็กเต็ก
รสชาติและสรรพคุณ ประกอบด้วยอัลคาลอยด์ กรดนิโคติน วิตามินเอ มีสรรพคุณแก้ร้อนใน กระหายน้ำ บำรุงอวัยวะภายใน บำรุงหัวใจ
วิธีปรุง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทตุ๋น และข้าวต้ม
ข้อควรระวัง กินเพียงเล็กน้อยจะช่วยให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่ถ้ากินมากเกินไปอาจมีผลร้ายได้

ลูกเคียมซิก
รสชาติและสรรพคุณ รสหวานอมฝาด มีธาตุเป็นกลาง สรรพคุณที่เด่นที่สุดคือ การบำรุงม้ามและขับน้ำในร่างกาย ระงับอาการน้ำอสุจิหลั่งเร็ว บำรุงม้าม แก้ท้องเดิน มักใช้บำบัดโรคหนองใน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
วิธีปรุง
1.ลูกเคียมซิกและแป๊ะฮะอย่างละ 60 กรัม ห่วยซัว 100 กรัม ต้มเป็นโจ๊กกิน ช่วยบำบัดอาการท้องเดินเรื้อรัง
2.ลูกเคียมซิก 30 กรัม เม็ดบัว 15 กรัม ต้มกับน้ำและปรุงรสด้วยน้ำตาลกินวันละ 2 ครั้ง ใช้บำบัดอาการตกขาว และน้ำอสุจิเคลื่อนบ่อย
3. ใช้เคียมซิกต้มเป็นซุปดื่ม แก้ปวดศีรษะ ปวดประสาท ปวดเมื่อยตามข้อกระดูก
ผู้ไม่ควรบริโภค เคียมซิกมีฤทธิ์ลดเหงื่อแรงมาก ผู้มีอาการปัสสาวะขัดและท้องผูกเป็นประจำไม่ควรกิน

แป๊ะฮะ
รสชาติและสรรพคุณ แป๊ะฮะขาวถือว่าดีที่สุด รสหวานอมขม มีธาตุเป็นกลาง ชุ่มปอด แก้ไอ ทำให้จิตใจสงบ มักใช้กับผู้ป่วยวัณโรค และแก้อาการนอนไม่หลับได้ผลดี
วิธีปรุง
1.นำแป๊ะฮะสด 200 กรัม ผสมน้ำผึ้ง ½ ถ้วย นึ่งให้นิ่ม อมจะช่วยให้ชุ่มคอ
2.แป๊ะฮะและลูกพุทราเปรี้ยวอย่างละ 50 กรัม ต้มน้ำดื่ม บำบัดอาการนอนไม่หลับ
ผู้ไม่ควรบริโภค ผู้ที่ม้ามและกระเพาะพร่อง-เย็น ไม่ควรกิน

ตังกุย
รสชาติและสรรพคุณ รสหวานอมเผ็ด มีธาตุอุ่น บำรุงเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียน แก้ปวดประจำเดือน หล่อลื่นลำไส้ ระบายท้อง เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง ร่างกายเหลืองซูบ ประจำเดือนขาด และแก้อาการบวมได้อีกด้วย
วิธีปรุง
1.ตังกุย 9 กรัม อึ่งคี้ 30 กรัมต้มน้ำดื่ม ต้มได้ 2 ครั้ง บำบัดโรคโลหิตจาง
2.ทำซุปน้ำข้นใส่ปลาไหล
ผู้ไม่ควรบริโภค ผู้มีอาการปอดพร่อง ร้อนใน หรือเพิ่งหายจากการอาเจียนมีเลือดปนไม่ควรกิน และการกินตังกุยเป็นประจำจะทำให้มีอาการเจ็บคอและจมูกร้อนได้

โตวต๋ง
รสชาติและสรรพคุณ ส่วนเปลือกของต้นโตวต๋ง มีเจลาตินสีขาว ประกอบด้วยยางไม้สีขาว ไขมัน กรดอินทรีย์ รสหวาน มีธาตุอุ่น บำรุงตับ ไต กระดูก และเส้นเอ็น ลดความดันโลหิต บำรุงครรภ์ ป้องกันการแท้ง เหมาะสำหรับผู้ที่ตับอ่อนแอ ปวดเมื่อยเอว
วิธีปรุง
1.ต้มกับเนื้อเพื่อบำรุงร่างกาย
2.โตวต๋ง 150 กรัม แช่ในเหล้าขาว 500 ซีซี เป็นเวลาครึ่งเดือน ดื่มครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้งบรรเทาอาการไตพร่องและหูอื้อ
ผู้ไม่ควรบริโภค ผู้ที่เลือดแห้งและร้อนใน ห้ามกิน

ตั้งเซียม
รสชาติและสรรพคุณ มีสรรพคุณคล้ายโสมจีน รสหวาน มีธาตุเป็นกลาง บำรุงพลังและม้าม ชุ่มปอด เพิ่มน้ำในร่างกาย ใจสั่น หายใจไม่เต็มปอด และท้องเดิน
วิธีปรุง ตั้งเซียม 20 กรัมพุทราจีน 10 ลูก ต้มน้ำจนสุก ใส่น้ำตาลพอประมาณ ดื่มแก้อาการอ่อนเพลีย

พุทราจีน
รสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุอุ่น บำรุงม้าม ปรับกระเพาะอาหารให้สู่สภาวะสมดุล เสริมพลัง เพิ่มน้ำ บำรุงเลือด ลดไขมัน และต้านมะเร็ง มักใช้บำบัดอาการเบื่ออาหารเนื่องจากกระเพาะพร่อง หัวใจเต้นไม่ปกติ โรคไขมันในเลือดสูง และโรคตับ
วิธีปรุง
1.พุทราจีน 10-20 ลูก ตั้งเซียม 10 กรัม ต้มกินทั้งซุปและพุทราจีน บำบัดม้ามและกระเพาะพร่อง
2.พุทราจีน 10 ลูก รากผักขึ้นฉ่ายสด 10 ต้น ล้างให้สะอาดต้มเป็นซุป ลดคอเลสเตอรอล

เหง้าบัว
รสชาติและสรรพคุณ รสหวาน มีธาตุเย็นจัด เหง้าบัวสุกใช้บำรุงม้าม ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงโลหิต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ แก้อาการท้องเดิน
วิธีปรุง น้ำเหง้าบัวคั้น 1 ถ้วย กับน้ำสาลี่คั้น 1 ถ้วยผสมเข้าด้วยกันดื่มรักษาอาการไอ มีเสมหะข้น

อาหารและ สมุนไพรจีน ทั้ง 12 ชนิดนี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวจากชั้นอาหารและสมุนไพรจีนที่มีอีกกว่า 1,000 ชนิด ซึ่งทำให้นึกถึงความชาญฉลาดของชาวจีนโบราณที่เข้าใจธรรมชาติของร่างกายและสิ่งแวดล้อม จนคิดสูตรอาหารและเครื่องยาที่ใช้ทั้งบำรุงร่างกายและบำบัดโรคให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์กันเรื่อยมา

กินอาหารได้ยาบำรุงร่างกายได้อย่างไร
ตามประวัติอันยาวนานกว่า 3,000 ปีของอาหารเพื่อสุขภาพนั้น ชาวจีนเชื่อว่า “ยารักษาโรคและอาหารมีที่มาจากแหล่งเดียว ไม่มีเส้นแบ่งขอบเขตที่แน่นอนระหว่างยากับอาหาร” จากหนังสืออาหารเครื่องยาจีน ของ สำนักพิมพ์รีดเดอร์ ไดเจสท์ กล่าวถึงคำพูดของ นายแพทย์ซุนซือเหมี่ยวว่า “อาหารสามารถขจัดปัจจัยภายนอกช่วยปรับสภาพอวัยวะภายใน ทำให้จิตใจสงบ มีอารมณ์ดีและช่วยบำรุงพลังเลือด ผู้ที่สามารถใช้อาหารบำบัดโรคและบรรเทาอาการต่างๆ ถือว่าเป็นผู้มีความรู้อันประเสริฐ ดังนั้นในฐานะที่เป็นแพทย์ จึงต้องเข้าใจสมุฏฐานของโรค แล้วรักษาด้วยอาหาร ถ้าไม่ได้ผลจึงรักษาด้วยยา”

ซึ่งการใช้อาหารบำบัดโรคหมายถึง การอาศัยสารอาหารชนิดพิเศษที่มีอยู่ในอาหารมาประกอบกับวิธีการปรุงที่เหมาะสม เพื่อบำบัดโรค ซึ่งมีหลักการหลายประการ เช่น

ทฤษฏีหยิน-หยาง
คุณมานพ เลิศสุทธิรักษ์ นายกสมาคมแพทย์แผนจีนในประเทศไทย เป็นผู้อธิบายให้เราฟังดังนี้ค่ะ “ร่างกายมนุษย์จำเป็นต้องดำรงหยิน-หยางให้คงไว้ในสภาวะสมดุล ร่างกายประกอบด้วยเนื้อเยื่อ โครงกระดูก เส้นผม เล็บ ซึ่งเป็นหยิน ส่วนหยางคือพลังงานของชีวิต ภายใต้สภาพปกติหยินหยางจะมีสภาวะสมดุลในลักษณะที่ตรงกันข้าม ก่อให้เกิดการไหลเวียนของพลังในร่างกายไปทั่วทุกจุด ถ้าปริมาณหรือลักษณะของตัวใดตัวหนึ่งเหลื่อมล้ำเกินไป ร่างกายจะผิดปกติ เช่นเมื่อใดที่หยางในร่างกายน้อย ทำให้การหมุนเวียนเลือดไม่ดี หน้าซีด ตัวเย็น แต่ถ้าหยางมากเกินไป จะทำให้ร้อนใน ผิวพรรณแห้ง อวัยวะภายในเป็นผังพืด หยิน หยาง ไม่สมดุลจุดไหน อวัยวะนั้นจะเกิดการอุดตันและเกิดโรคต่างๆ ตามมา” เมื่อพิจารณาจากอาการของโรคแล้ว เราสามารถจำแนกลักษณะโรคหยินและหยางได้ดังนี้

โรคหยาง เป็นโรคชนิดเฉียบพลัน มีลักษณะเดินหน้าและเพิ่มขึ้น มักปรากฏเป็นอาการไข้สูง จิตใจกระสับกระส่าย กระหายน้ำ ชอบกินของเย็น ท้องผูก ขัดเบา เป็นต้น

โรคหยิน เป็นโรคชนิดเรื้อรัง มีลักษณะถอยหลังและลดลง มักปรากฏเป็นอาการเย็นง่าย หนาวง่าย เซื่องซึม ไม่มีเรี่ยวแรง กินอาหารน้อยลง ท้องเดิน อุจจาระเหลว มือเท้าเย็น เป็นต้น

อาจารย์มานพยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “สำหรับอาหารและเครื่องยาจีนแต่ละชนิดมีฤทธิ์เป็นหยินหยางอยู่แล้ว การกินให้ถูกหลักจึงสามารถช่วยปรับสมดุลของร่างกายได้” นอกจากนี้แพทย์แผนโบราณยังมีความรู้เรื่องอาหารว่ามีสรรพคุณและบำรุงร่างกายได้โดยการแบ่งย่อย ประกอบด้วย ธาตุทั้งสี่ และรสทั้งห้า รวมถึงปฎิกริยาขึ้น ลง ลอย จมของร่างกาย

การจำแนกตามธาตุอาหาร แพทย์จีนจำแนกธาตุอาหารหลากหลาย มีสรรพคุณแตกต่างกันดังนี้

อาหารที่มีธาตุเย็นและเย็นจัด ช่วยขับร้อน ถอนพิษ เช่น ข้าวเดือย แห้ว บวบ มะระ
อาหารที่มีธาตุร้อนและอุ่น ช่วยขจัดเย็น บำรุงส่วนที่พร่องของร่างกาย เช่น ขิงสด น้ำตาล ผักชี
อาหารที่มีธาตุเป็นกลาง ช่วยบำรุงม้าม ทำให้เจริญอาหาร เช่น ข้าวเหนียว ถั่วเหลือง น้ำมันงา
และแบ่งแยกเป็นรสทั้งห้า มีสรรพคุณแตกต่างกันและมีการแยกเป็นหยิน-หยาง

รสทั้งห้าของอาหาร
รสเผ็ด เป็นอาหารจำพวกหยาง ช่วยระบาย ช่วยให้พลังเดิน ทำให้โลหิตไหลเวียน แก้ไข้ ปวดกระเพาะ ปวดรอบเดือน อาหารรสนี้ได้แก่ ขิง กระเทียม ฮวยเจีย กุ้ยพวย กานพลู
รสหวาน (รวมรสจืด) เป็นอาหารจำพวกหยาง ช่วยปรับโจงชี่ให้สมดุล มักใช้บำบัดม้ามและกระเพาะอ่อนแอ อาหารไม่ย่อย สตรีร่างกายอ่อนแอหลังคลอด ปวดตามกระดูกและเอว อาหารรสหวานได้แก่ พุทราจีน ลำไย
รสเปรี้ยว(รวมรสฝาด) เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยหยุดการหลั่งของเหลวและเพิ่มน้ำในร่างกาย มักใช้บำบัดอาการเหงื่อออกผิดปกติขณะหลับ ปัสสาวะบ่อย ม้ามพร่อง สตรีตกขาว ร้อนใน อาหารรสเปรี้ยวได้แก่ ลูกเคียมซิก เม็ดบัว ลูกบ๊วย
รสขม เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยขับร้อน สลายชื้น ปรับสภาวะพลังย้อนกลับ มักใช้บำบัดอาการหวัดแดด เป็นไข้ ตามัว ดีซ่าน อาหารรสขมได้แก่ เก๋ากี้ ผักขม มะระ
รสเค็ม เป็นอาหารจำพวกหยิน ช่วยระบาย และขับของเหลวในร่างกาย บำรุงไต และเลือด มักใช้บำบัดอาการท้องผูก ฝี ตัวบวม ไตพร่อง ขาดเลือด อาหารรสเค็มนี้ได้แก่ สาหร่าย ปลิงทะเล


เหล่านี้คือความรู้ตามหลักโภชนาการของชาวจีน ซึ่งสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่ะ



ข้อมูลเรื่อง ” 12 สมุนไพรจีน ช่วยบำรุงสุขภาพ” จากนิตยสารชีวจิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น